22.12.53

วิธีป้องกันอาการเมารถ

ใน ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างนี้ ใครต่อใครคงวางแผนกันไว้แต่เนิ่นๆ แล้วสิว่า เมื่อมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันจะชวนพ่อแม่พี่น้อง ชวนเพื่อน หรือชวนแฟนไปเที่ยวที่ไหนกันดีน้า ซึ่งหากใครมีเงินเหลือเฟือก็คง เลือกไปเที่ยวลั้นลาที่ต่างประเทศสินะ แต่บางท่านอาจนิยมเดินทางไปต่างจังหวัดก็สุดแท้แต่ แบบว่าชวนกันไปไหว้พระ ทำบุญ และเที่ยวไปด้วยในตัวก็เก๋ไม่น้อย

          ดัง นั้นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว จึงต้องมีผู้คนแห่แหนเดินทางออกไปไหนมาไหน ทั้งทางรถ ทางเรือและทางเครื่องบินมากมายแน่นอน (แต่ถ้าผู้ใดสมัครใจอยู่บ้านเพื่อพักผ่อน ก็ไม่ผิดกติกาสากลแต่อย่างใด) ทั้งนี้ ใครจะเดินทางไปไหน ก็ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อมไว้ก่อน เพราะเท่าที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดจากการเดินทางซึ่งมักจะพบบ่อยเห็นจะได้แก่อาการเมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบินกันนี่แหละ ซึ่งถ้าหากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้กันหรอก 


          ถามว่า การเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน หรือเมาอากาศนั้นคืออะไร? รศ.นพ.ปิ่น ศรีประจิตติชัย แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานที่ไม่ประสานกัน ระหว่างการมองเห็นและความรู้สึก ของการเคลื่อนไหว โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการรับภาพและระบบ Vestibular ในหูส่วนใน ซึ่งคนทั่วไปจะเข้าใจในความหมายของ "น้ำในหู (ส่วนใน)" นั่นเอง

          ส่วนอาการหลักๆ ที่เกิดขึ้นกับคนเมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบิน ได้แก่ เกิดความรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะและคลื่นไส้ ซึ่งหากเป็นมากก็จะอาเจียนออกมา หรือไม่ก็มีอาการอย่างอื่นพบร่วมกันก็ได้ เช่น หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น และปวดศีรษะไงล่ะ


          จากการศึกษาพบอาการเมารถ-เมาเรือได้มาก หากอยู่ในสถานการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง กระตุกหรือเหวี่ยงไปมา เช่น นั่งในเรือที่มีคลื่นลมแรง นั่งในเครื่องบินที่ตกหลุมอากาศ นั่งรถขึ้นเขาซึ่งมีเส้นทางที่คดเคี้ยววกวน เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากระดับน้ำในหูชั้นในเสียสมดุลอย่างฉับพลันนั่นเอง ซึ่งหากท่านใดรู้ตัวว่าเป็นคน เมารถ-เมาเรือง่าย ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ต้องสมบุกสมบันหรือเดินทางไกลดีกว่า เพื่อความไม่ประมาทยังไงล่ะ

          ส่วน วิธีป้องกัน ก็มีเหมือนกันไม่ใช่ไม่มีเอาซะเลย เช่น เลือก นั่งเบาะหน้า อย่านั่งข้างหลัง มองออกไปนอกหน้าต่างบ้าง อย่าเอาแต่จ้องหน้าคนในรถ หรือในเครื่องบินอย่างเดียว ห้ามอ่านหนังสือ ขณะยานพาหนะมีการเคลื่อนที่ หรือไม่อ่านเลยเป็นดีที่สุด พิงศีรษะกับพนักพิง เพื่อให้ศีรษะขยับเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ห้ามสูบบุหรี่ ถ้าเป็นไปได้ ควรงดอาหารมื้อหนัก รสจัด อาหารมันๆ และผลิตภัณฑ์จากนม ก่อนโดยสารยานพาหนะด้วยนะ





ขอบคุณข้อมูลจาก  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น